ความเข้าใจผิดและโอกาสของไทยใน 6ประเทศอาเซี่ยน

ความเข้าใจผิด และ โอกาส ของไทยใน 6 ประเทศอาเซียน
 

ท่ามกลางความตื่นตัวของคนไทยกับการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า และเนื่องจากในวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันอาเซียน ถือโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศจัดประชุมเอกอัครราชทูตไทยจาก 9 ประเทศในอาเซียนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ให้เอกอัครราชทูตไทยในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศเล่าว่า สิ่งที่คนไทยควรรู้หรืออะไรที่คนไทยยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเทศอาเซียน และโอกาสของไทยในประเทศนั้นๆ คืออะไร

พิษณุ จันทร์วิทัน ออท.ณ สปป.ลาว
ปัญหาที่พบคือเรายังขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับลาว ตั้งแต่เรื่องการเมือง การปกครอง และสังคม เช่นข้าราชการไทยที่ชายแดนยังไม่เข้าใจว่าลาวเขาปกครองกันอย่างไร เข้าใจว่าเจ้าแขวงของลาวเทียบเท่ากับผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย ทั้งที่เขาเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคซึ่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรี และบางท่านก็เป็นรัฐมนตรีมาแล้ว การบริหารจัดการของเขาต่างจากเรา เพราะเขาเป็นสังคมนิยม บางอย่างก็ยังมีข้อจำกัด อาทิ เรื่องอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนและการสร้างครอบครัวความเข้าใจผิดระหว่างกันเกิดได้ง่าย อย่าลืมว่าสื่อต่างๆ ของไทยโดยเฉพาะโทรทัศน์เขาเสพ 100% เขาดูละครและข่าวไทย พูดจาอะไรเขาก็ฟังหมดและเข้าใจกันหมด ฉะนั้นต้องระมัดระวัง ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ให้ไปยกยอปอปั้น แต่เราไม่ควรพูดจาดูแคลนให้ร้ายหรือพูดอะไรไม่ดีต่อกัน

การที่มีชายแดนติดต่อกัน มีเรื่องท้าทายเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งจากการไม่รู้กฎหมาย การค้าขายต้องทำอย่างสุจริต มองถึงประโยชน์ระยะยาว ไม่ใช่คิดแค่ตีหัวเข้าบ้านหรือทำอะไรนอกระบบ

ขณะที่ โอกาสของไทยคือโอกาสจากการพูดภาษาและมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ความเข้าอกเข้าใจก็มีมากกว่าประเทศอื่น ลาวยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกับไทย ยังมีโอกาสพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้อีกมาก ถ้าเส้นทางคมนาคมสะดวก ไทย-ลาวสามารถร่วมมือกันได้อีกมาก ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันหรือการย้ายฐานการผลิตไปยังลาว

มารุต จิตรปฏิมา ออท. ณ สิงคโปร์
สิ่งได้ทราบก่อนเดินทางมาประจำการที่สิงคโปร์คือคนไทยมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิงคโปร์ โดยมองว่าเวลาไทยเกิดเหตุอะไร สิงคโปร์จะเสนอข่าวเยอะมาก ใช้โอกาสในการทำให้ไทยดูไม่ดีเพราะเป็นคู่แข่งกัน เพื่อที่เขาจะได้ดูดีขึ้นในสายตาของคนอื่น ชอบแทงข้างหลัง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะข่าวที่ดีเกี่ยวกับไทยสิงคโปร์ก็นำเสนอ อย่างที่กรุงเทพฯได้รับรางวัลเมืองน่าเที่ยวอันดับหนึ่ง สื่อสิงคโปร์ก็นำเสนอเช่นกัน โดยมองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กมาก เขาอยู่ได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีก็ต้องขึ้นกับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่ดีด้วย อยากให้เข้าใจว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เปราะบางต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก สิงคโปร์ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย เพราะเขาต้องการมิตร ถ้าสถานการณ์ในไทยไม่ดีก็มีผลกระทบกับสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน แต่สิงคโปร์เขาชัดเจนในสิ่งที่เขาคิด ผลประโยชน์ประเทศต้องมาก่อน ถ้าผลประโยชน์ขัดกันเขาก็บอกว่าไม่

ส่วนโอกาสของไทยในสิงคโปร์ ในฐานะที่เขาเป็นประเทศที่นำเข้าอาหาร สินค้าสำเร็จรูปและผักผลไม้ก็มีโอกาสมาก โดยเฉพาะสินค้าออร์แกนิก ปัจจุบันสิงคโปร์เข้ามาทำคอนแทร็กต์ฟาร์มิ่งในไทย แต่เนื่องจากเขามีกฎระเบียบเข้มงวดโดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยพืชและสัตว์จึงต้องระวังไม่ให้มีสารตกค้าง ถ้าเราผลิตสินค้าได้ดีและมีคุณภาพก็จะเป็นที่ต้องการของเขา เพราะไทยมีข้อดีที่อยู่ใกล้ การขนส่งก็ทำได้ไม่ลำบาก นอกจากนี้ 15% ของตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลกก็เป็นของสิงคโปร์ หากหาคู่ค้าที่ดีก็น่าจะมีโอกาส แต่ทั้งหมดนั้นเราต้องวิจัย พัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุมคุณภาพให้ได้ด้วย

ภาสกร ศิริยะพันธุ์ออท. ณ อินโดนีเซีย
คนไทยอาจรู้จักอินโดนีเซียน้อยกว่าเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน เพราะความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ คนไทยเดินทางไปอินโดนีเซียปีละ 7-8 หมื่นคน ขณะที่ คนอินโดนีเซียมาไทยปีละ 4 แสน ซึ่งถือว่าไม่มากทั้งสองฝ่าย การติดต่อระหว่างประชาชนหรือการท่องเที่ยวยังน้อย ส่วนใหญ่คนที่เดินทาง ไปมาคือนักธุรกิจเพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สินค้าที่ขายในอินโดนีเซียนำเข้าไปจากไทยเยอะ อาทิ สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งบริษัทต่างชาติที่ผลิตในไทยส่งไปขาย เขารู้จักอาหารไทย ขณะที่ทุเรียนหมอนทองก็เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมแพร่หลาย

อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทยในอาเซียน ข้อดีคือไม่มีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างกัน อินโดนีเซียเป็นมุสลิมสายกลาง ไม่สุดโต่ง กระทั่งรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียยังให้การรับรองศาสนาถึง 6 ศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนับถือศาสนาต่างไม่ใช่อุปสรรคในการติดต่อระหว่างกัน แต่เป็นเพราะความห่างไกล
โอกาสในอินโดนีเซียคือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ประชากรมากถึง 248 ล้านคน ในจำนวนนี้ 118 ล้านคนอยู่ในวัยทำงาน และ 74 ล้านคนเป็นชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อมาก เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตจากการส่งออกสินค้า แต่การบริโภคและการลงทุนในประเทศก็สำคัญ โดยเฉพาะขณะนี้อินโดนีเซียเปิดให้มีการลงทุนในประเทศซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าไปลงทุน แต่ขณะนี้นักธุรกิจไทยยังเข้าไปไม่มาก จะมีก็แต่รายใหญ่อย่างซีพี บ้านปู เอสซีจี หรือ ปตท. ส่วนรายย่อยมักจะเป็นการเอาของไปขายให้กับคนชั้นกลาง อาทิ เครื่องประดับ เสื้อผ้า เพราะตลาดใหญ่มาก

ข้อเสียคืออินโดนีเซียเป็นเกาะถึง 17,900 เกาะ ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูง ท่าเรือยังไม่มาก เป้าหมายสำคัญของเขาคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุน

กฤต ไกรจิตติออท. ณ มาเลเซีย
ประวัติศาสตร์ไทย-มาเลเซีย มีความใกล้ชิดกันตั้งแต่อดีต 4 รัฐทางเหนือของมาเลเซียมีความใกล้ชิดกับไทยเป็นพิเศษ ตวนกูอับดุล ราห์มาน บิดาแห่งเอกราชของมาเลเซีย ซึ่งเป็นลูกเจ้าพระยาไทรบุรีก็มีแม่เป็นคนไทย มองว่าเรามีบรรพบุรุษร่วมกันมา ผู้คนในกลันตัน เคดะห์ ปะลิส ก็มีญาติพี่น้องอยู่ในไทย ดังนั้น มาเลเซียจึงไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน แต่เป็นญาติพี่น้องนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซียกล่าวกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า มาเลเซียต้องช่วยเหลือไทยในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เพราะความมั่นคงของไทยก็คือความมั่นคงของมาเลเซียและอาเซียน หากปัญหายังมีการค้าขายลงทุนในพื้นที่ก็จะไม่สะดวก จึงให้ความสำคัญลำดับต้นกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนทางตอนเหนือของมาเลเซียและตอนใต้ของไทย

โอกาสของไทยในมาเลเซียคือธุรกิจที่เกี่ยวกับโลกมุสลิมซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอาหารฮาลาล แต่ยังรวมถึงเรื่องท่องเที่ยว มาเลเซียมองตัวเองเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวมุสลิม ดังนั้น จึงน่าจะร่วมมือทางธุรกิจกันได้ และยังมีเรื่องยางพารา นอกจากนี้ การค้าชายแดนก็จะมีบทบาทสำคัญ เพราะถนนหนทางไปสิงคโปร์ก็ต้องผ่านมาเลเซียแต่ยังคงมีปัญหารถสินค้าติดที่ด่าน ขณะที่รถโดยสารขนาดใหญ่ของไทยก็ยังเข้าไปที่มาเลเซียไม่ได้

ธัชชยุติ ภักดีออท. ณ กัมพูชา
มองว่ากัมพูชาเป็นประเทศยากจน ไม่มีการพัฒนาการทำธุรกิจ เพราะเห็นแค่ที่คนกัมพูชามาเป็นแรงงาน แต่ขณะนี้คนกัมพูชาซึ่งเคยอยู่ในต่างประเทศกลับเข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชามากขึ้น นักธุรกิจในกัมพูชาปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาเศรษฐกิจกัมพูชาจึงเหมือนเข้าสู่ยุคใหม่ และอย่านึกว่านักธุรกิจกัมพูชาไม่เก่ง หลายคนกลับมาจากออสเตรเลียและสหรัฐ คนมี กำลังซื้อก็มีมาก นอกจากนี้ เขายังมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำมาก สามารถผลิตสินค้าเกษตรเลี้ยงตัวเองและส่งออกได้ อย่างไรก็ดี หากจะเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชา เราก็ต้องฉลาดในการดำเนินการ ต้องศึกษาหาข้อมูล ทราบถึงกฎหมายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ดี

โอกาสในการลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชา ที่จริงก็มีบริษัทไทยรายใหญ่ไปลงทุนอยู่แล้ว อาทิ สิ่งทอ รองเท้า และโรงสี นอกเหนือจากนี้การที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปนครวัดนครธมมากซึ่งปีนี้คาดว่าจะถึง 4 ล้านคน ไทยน่าจะส่งผักผลไม้และดอกไม้เข้าไปได้ เพราะกัมพูชาก็ชื่นชมที่ไทยมีความสามารถทางด้านเกษตรดีมาก

ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ออท. ณ ฟิลิปปินส์
คนยังเข้าใจว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศยากจนทั้งที่จริงแล้วฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร แต่มีประชากรมากทำให้มีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ แม้จะมีคนจนมากแต่ก็มีคนรวยระดับโลกเยอะเช่นกัน ความจริงแล้วฟิลิปปินส์มี ศักยภาพสูง มีบุคลากรระดับโลกมาก ความสามารถด้านภาษาอังกฤษก็สูง คนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานทั่วโลกมีทั้งนักบัญชี วิศวกร ผู้บริหาร หรือกระทั่งครูในโรงเรียนนานาชาติ ดังนั้น ฟิลิปปินส์มีความพร้อมหลายอย่าง แต่คนอาจเห็นข่าวว่าบ้านเมืองเขาจลาจลวุ่นวาย แต่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ เป็นคาทอลิกเคร่งครัด

โอกาสในการลงทุน และปัญหารวมถึงอุปสรรคของฟิลิปปินส์ก็มีเหมือนประเทศอื่นๆ คือต้องศึกษาให้ดี และควรหาหุ้นส่วนในการทำธุรกิจ ไม่ใช่เข้าไปลุยทำเลยเพราะสังคมฟิลิปปินส์รวมตัวกันเหนียวแน่นมาก เขายึดคำกล่าวว่า family first, friend second บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์มีไม่ถึง 10 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนเอสเอ็มอีการเข้าไปลงทุนอาจทำได้ลำบาก แต่การส่งสินค้าไปขายน่าจะทำได้ เพราะคนในประเทศมีมากกว่า 100 ล้านคน

โดย : วรรัตน์ ตานิกูจิ



อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/822#ixzz2cEcnYsDB